การประกันสุขภาพในเยอรมนี
ตั้งแต่ปี 2009 ทุกคนที่มีถิ่นพำนักในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีต้องทำประกันสุขภาพ ในการพำนักระยะสั้นในเยอรมนี จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นจะถูกปฏิเสธวีซ่า
ลักษณะพิเศษของระบบประกันสุขภาพในเยอรมนี
การประกันสุขภาพในเยอรมนีมีลักษณะสำคัญคือเป็นระบบคู่ขนานที่ประกอบด้วยการประกันสุขภาพตามกฎหมาย (GKV) และการประกันสุขภาพภาคเอกชน (PKV) ในขณะที่การประกันสุขภาพแบบ GKV เป็นระบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การประกันสุขภาพภาคเอกชนจะมีเงื่อนไขที่กำหนด
พลเมืองจากประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป¹ (EEA) และผู้มีสัญชาติของประเทศที่มีข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี² จะยังคงสามารถประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิดของตนเองได้ สิทธิประโยชน์ของการประกันในประเทศอื่น ๆ อาจแตกต่างจากในเยอรมนีมาก โดยอาจจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ของตนเองหรืออาจต้องทำประกันเสริม
การประกันสุขภาพตามกฎหมาย (GKV) และหลักความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม
บุคคลบางกลุ่มจะต้องเป็นสมาชิกในระบบการประกันสุขภาพตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่:
ลูกจ้าง (มีรายได้รวมก่อนหักภาษีต่ำกว่าเพดานรายได้สำหรับการประกันสุขภาพตามกฎหมาย)
ผู้เกษียณอายุ (หากมีระยะเวลาก่อนการประกันเป็นไปตามเงื่อนไข)
ผู้รับเงิน Arbeitslosengeld I (เงินทดแทนการว่างงาน I)
สิทธิประโยชน์ของการประกันสุขภาพภาคเอกชน
จะมีการตั้งคำถามอย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานะสุขภาพ (การตรวจสุขภาพ) หากสมัครเข้าระบบประกันสุขภาพภาคเอกชน การประกันสุขภาพของเยอรมนีจะสิ้นสุดการคุ้มครองทันทีที่ผู้ประกันเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตน
กลุ่มบุคคลต่อไปนี้มักทำประกันภาคเอกชน:
ลูกจ้าง (มีรายได้รวมก่อนหักภาษีเกินเพดานรายได้สำหรับการประกันสุขภาพตามกฎหมาย)
ข้าราชการ
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
เบี้ยประกันสุขภาพภาคเอกชนจะไม่ขึ้นอยู่กับรายได้ แต่จะเป็นไปตามสถานะสุขภาพ อายุ และขอบเขตของสิทธิประโยชน์ เบี้ยประกันสำหรับผู้ประกันแต่ละคนจะแตกต่างกัน
สิทธิประโยชน์จาก PKV แทบไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และมีความครอบคลุมมากกว่าการประกันสุขภาพตามกฎหมายหลายเท่า นอกจากนี้ยังสามารถปรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับผู้ประกันที่สุดได้ โดยผู้ประกันต้องสำรองจ่ายค่ารักษาทั้งหมดก่อน บริษัทประกันจะคืนค่าใช้จ่ายนี้ให้เมื่อนำใบเสร็จไปยื่น (หลักการจ่ายเงินคืน)
การประกันเสริม
การประกันเสริมเป็นการประกันที่ปิดช่องว่างความครอบคลุมของการประกันสุขภาพ สามารถทำประกันเสริมได้ที่บริษัทประกันสุขภาพเอกชน โดยจะไม่ขึ้นกับรายได้ การประกันเสริมที่สำคัญได้แก่ การประกันเสริมสำหรับการดูแล การประกันเสริมสำหรับการทำฟัน หรือการประกันเสริมสำหรับการเข้าโรงพยาบาล
ประกันสุขภาพสำหรับนักศึกษาต่างชาติในเยอรมนี
นักเรียนต่างชาติที่เริ่มต้นศึกษาในมหาวิทยาลัยของเยอรมนีต้องทำประกันสุขภาพทุกคน จะไม่สามารถลงทะเบียนนักศึกษาได้หากไม่มีหลักฐานการประกันสุขภาพ
การประกันสุขภาพแบบบังคับสำหรับนักศึกษาในเยอรมนี
จะมีเงื่อนไขต่างกันตามวัตถุประสงค์การพำนัก ประเทศบ้านเกิด และอายุของนักศึกษา โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งบุคคลออกเป็นห้ากลุ่ม:
1 นักศึกษาจากประเทศในกลุ่ม EEA¹ หรือประเทศที่ได้ทำข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี²
2 นักศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด
3 นักศึกษาที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือสิ้นสุดภาคการศึกษาที่ 14 แล้ว
4 ผู้เข้าร่วมหลักสูตรเตรียมมหาวิทยาลัย
5 นักศึกษาปริญญาเอกชาวต่างชาติ และนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับทุนการศึกษา
ประกันสุขภาพสำหรับพลเมืองของกลุ่มประเทศ EU ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี / หรือที่กำลังศึกษาในภาคการศึกษาที่ 14 เป็นต้นไป
นักศึกษาจากกลุ่มประเทศ EEA¹ และประเทศที่มีข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี²,สามารถยื่นขอยกเว้นจากการประกันสุขภาพแบบบังคับในเยอรมนีได้ หากแสดงหลักฐานการประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิด:
การประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิด | ทางเลือกในการประกันสุขภาพในเยอรมนี | เงื่อนไขเพิ่มเติม |
---|---|---|
การประกันสุขภาพตามกฎหมาย | การยอมรับให้เข้าระบบประกันสุขภาพตามกฎหมาย | บัตร European Health Insurance Card (EHIC) ของบริษัทประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิด |
การประกันสุขภาพภาคเอกชน | การประกันสุขภาพภาคเอกชน | ใบรับรองจากบริษัทประกันในประเทศบ้านเกิด การชำระเงินสำหรับบริการและยากับบริษัทประกันสุขภาพของตนเอง |
ไม่มีประกันสุขภาพ | ประกันสุขภาพตามกฎหมายหรือประกันสุขภาพภาคเอกชน | หากมีอายุ 30 ปีขึ้นไป จะสามารถประกันภาคเอกชนได้เท่านั้น |
ข้อควรใส่ใจ: บ่อยครั้งที่นักศึกษาต่างชาติที่ทำประกันภาคเอกชนในเยอรมนีแต่ยังมีอายุไม่ถึง 30 ปี จำเป็นต้องแสดงใบรับรองการยกเว้นการประกันสุขภาพตามกฎหมายในการลงทะเบียนนักศึกษา หลังจากนั้นจะไม่สามารถเข้าระบบ GKV ได้อีกในระหว่างการพำนักเพื่อศึกษา
การประกันสุขภาพแบบบังคับ สำหรับพลเมืองนอกกลุ่มประเทศ EU
นักศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด ต้องทำประกันสุขภาพตามกฎหมายหรือประกันสุขภาพภาคเอกชนในระหว่างที่พำนักอยู่ในเยอรมนี นักศึกษาในเยอรมนีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี หรือที่สิ้นสุดภาคการศึกษาที่ 14 แล้ว ไม่ต้องทำประกันสุขภาพตามกฎหมาย แต่ต้องทำประกันภาคเอกชน เช่นเดียวกับบุคคลที่เข้าร่วมหลักสูตรภาษาเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยในเยอรมนี
เบี้ยประกันสุขภาพ (ข้อมูลสำหรับปี 2019)
การประกันสำหรับนักศึกษาต่างชาติ | เบี้ยประกันสุขภาพ | เบี้ยประกันการดูแล | เบี้ยประกันทั้งหมด |
---|---|---|---|
นักศึกษา (อายุ 23 ปีขึ้นไป) ที่ยังไม่มีบุตร | 76,04 ยูโร* | 24,55 ยูโร** | 100,59 ยูโร* |
นักศึกษาอายุไม่เกิน 23 ปี ที่มีบุตรแล้ว | 76,04 ยูโร* | 22,69 ยูโร** | 98,73 ยูโร* |
*เบี้ยประกันสำหรับนักศึกษาต่างชาติในระบบประกันสุขภาพตามกฎหมาย จะเท่ากันทุกบริษัทประกัน โดยนักศึกษาแต่ละคนต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มเติมของบริษัทประกันแต่ละแห่ง
**เบี้ยประกันการดูแลสำหรับนักศึกษาที่มีบุตรแล้วคือ 3.05 เปอร์เซ๊นต์ เบี้ยประกันการดูแลสำหรับนักศึกษาอายุ 23 ปีขึ้นไปที่ไม่มีบุตรคือ 3.30 เปอร์เซ็นต์
ก่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาต่างชาติควรขอคำปรึกษาจากสหภาพนักศึกษา (Studentenwerk) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือแผนกต่างประเทศ (International Office) ของมหาวิทยาลัย
การทำงานในเยอรมนี – ประกันสุขภาพสำหรับแรงงานชั่วคราว (Gastarbeiter)
หลักทั่วไปคือ: ลูกจ้างต้องมีประกันสังคมในประเทศที่ตนทำงานอยู่ แม้แต่การพำพักในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อทำงาน ก็จำเป็นต้องเข้าระบบประกันสุขภาพในเยอรมนีด้วยเช่นกัน
ความคุ้มครองของการประกันสุขภาพ สำหรับพลเมืองจากกลุ่มประเทศ EU
แรงงานชั่วคราว (Gastarbeiter) จากประเทศสมาชิก EEA¹ และจากประเทศที่ได้ทำข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี² จะต้องมีประกันสุขภาพ ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นลูกจ้างหรือทำงานอิสระก็ตาม เช่นเดียวกับในกรณีที่ลูกจ้างพำนักอาศัยในประเทศสมาชิกประเทศอื่น หรือเมื่อนายจ้างมีที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกประเทศอื่น มีข้อยกเว้นสองประการเท่านั้น คือ:
1
ผู้ที่เป็นทั้งลูกจ้างในประเทศสมาชิกประเทศหนึ่ง และประกอบอาชีพอิสระในประเทศสมาชิกอีกประเทศ ⇢ สามารถทำประกันสังคมได้ในทั้งสองประเทศ
2
การถูกส่งไปประจำที่ต่างประเทศในระยะเวลาจำกัด (สูงสุด 12 เดือน) ⇢ ทำประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิด (ในกรณีนี้ต้องใช้แบบฟอร์ม E 101)
ความคุ้มครองของการประกันสุขภาพ สำหรับพลเมืองจากนอกกลุ่มประเทศ EU
ลูกจ้างจากนอกกลุ่มประเทศ EU ต้องทำประกันสุขภาพในเยอรมนี หากบุคคลดังกล่าวมีใบอนุญาตพำนักอาศัยนอกเหนือจากใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาพำนัก ซึ่งบุคคลจากประเทศที่สามสามารถขอสิทธิพำนักได้จากคณะผู้แทนทางการทูตของเยอรมนีในต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่แผนกคนต่างชาติในเยอรมนี
การทำงานและการทำวิจัยในเยอรมนี – ประกันสุขภาพสำหรับแรงงานชั่วคราว (Gastarbeiter) และนักวิชาการรับเชิญ
กฎสำหรับนักวิชาการรับเชิญ
นักวิชาการรับเชิญ (นักวิจัย) และสมาชิกในครอบครัวที่ติดตามมาด้วย จะต้องมีประกันสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นบุคคลจากประเทศที่สามจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกในการประกัน ตั้งแต่ก่อนที่จะเดินทาง: จะได้รับใบอนุญาตพำนักอาศัยต่อเมื่อมีการแสดงหลักฐานการประกันสุขภาพเท่านั้น
สรุปข้อกฎหมาย:
ถิ่นกำเนิด/ประเภทสิทธิพำนัก | กฎเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ |
---|---|
นักวิชาการรับเชิญจากประเทศในกลุ่ม EEA1 และประเทศที่มีข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี2 | สามารถใช้ประกันสุขภาพจากประเทศบ้านเกิดในเยอรมนีได้เช่นกัน (บัตร European Health Insurance Card) ต้องใช้แบบฟอร์มหมายเลข 1 หรือ 101 จากบริษัทประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิดหรือหน่วยงานประกันสังคม |
นักวิชาการต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในเยอรมนี (สำหรับการพำนักระยะยาว) | การประกันสุขภาพแบบบังคับ กับบริษัทประกันที่ได้รับการอนุญาตในเยอรมนี สำหรับระยะเวลาการพำนักในเยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนประกันสุขภาพที่มีอยู่ในประเทศบ้านเกิด ไปใช้อัตราสำหรับระยะเวลาที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองได้ |
นักวิชาการรับเชิญที่มีสัญญาจ้างงาน | จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพแบบบังคับในเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพตามกฎหมายหรือประกันสุขภาพภาคเอกชน |
นักวิชาการรับเชิญที่ได้รับทุนการศึกษา | สามารถทำประกันสุขภาพภาคเอกชนได้เท่านั้น |
ประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเยอรมนี
สิทธิ์การพำนักสำหรับพลเมืองจากกลุ่มประเทศ EU
โดยทั่วไปแล้ว พลเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในประเทศ EU ประเทศใดก็ได้ แม้จะไม่ได้ทำงานในประเทศดังกล่าวก็ตาม อย่างไรก็ตาม สิทธิการพำนักมีเงื่อนไขสองประการคือ:
1
ผู้ย้ายถิ่นฐานต้องแสดงหลักฐานว่ามี „ปัจจัยการดำรงชีวิต“ ที่เพียงพอสำหรับการหาเลี้ยงชีพในประเทศ EU ดังกล่าว
2
การทำประกันสุขภาพในประเทศ EU „ประเทศใหม่“
กฎสำหรับผู้มีสัญชาติของประเทศนอกกลุ่ม EU
ตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ผู้ย้ายถิ่นฐานที่มาจากประเทศที่ต้องมีวีซ่าสำหรับการเข้าเยอรมนี จะต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ การประกันสุขภาพตามกฎหมายและการประกันสุขภาพภาคเอกชนจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ย้ายถิ่นฐานได้รับการจ้างงานหรือไม่
กฎพิเศษสำหรับสำหรับผู้ลี้ภัยในเยอรมนี
บุคคลที่ขอความคุ้มครองในเยอรมนีจากการไล่ล่าทางการเมืองหรือการไล่ล่าอื่น ๆ จะได้รับสถานะที่พิเศษ ตามหลักแล้วผู้ขอลี้ภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครองผ่านการประกันสุขภาพตามกฎหมาย เมื่อเจ็บป่วย บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสวัสดิการตามกฎหมายสวัสดิการสำหรับผู้ขอลี้ภัย (AsylbLG) ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะได้รับสวัสดิการระดับต่าง ๆ ตามสถานะของสิทธิพำนักและระยะเวลาการพำนัก
สิทธิตามมาตรา 4 ของกฎหมาย AsylbLG ประกอบด้วย:
สำหรับการเจ็บป่วยเฉียบพลัน: การรักษาจากแพทย์ ซึ่งรวมถึงการได้รับวัสดุปิดแผลและยา รวมทั้งบริการอื่น ๆ ที่ช่วยในการฟื้นตัว
การดูแลจากแพทย์และพยาบาล ซึ่งได้แก่ การช่วยทำคลอด รวมทั้งการได้รับยาและวัสดุปิดแผลสำหรับสตรีมีครรภ์และสตรีที่เพิ่งคลอด
สิทธิในการตรวจร่างกายและการฉีดวัคซีนป้องกัน
ประกันสุขภาพในเยอรมนี สำหรับนักเรียน ผู้ฝึกงาน และออแพร์
นักเรียนแลกเปลี่ยน ผู้ฝึกงานชาวต่างชาติ และออแพร์ ที่เข้าทำงานในเยอรมนี ต้องแสดงหลักฐานการประกันสุขภาพและการประกันอุบัติเหตุสำหรับระยะเวลาการพำนัก ผู้ฝึกงานและออกแพร์ชาวต่างชาติต้องเข้าระบบการประกันสุขภาพตามกฎหมาย เมื่อมีรายได้เกินเดือนละ 450 ยูโรเท่านั้น แต่บุคคลดังกล่าวก็สามารถทำประกันสุขภาพภาคเอกชนที่มีการปรับเป็นพิเศษให้เหมาะสมกับความต้องการของชาวต่างชาติจากประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป1 และประเทศที่มีข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี2 ได้เช่นกัน
จะประกันสุขภาพในประเทศบ้านเกิดหรือในเยอรมนี?
ผู้ที่มาจากประเทศสมาชิกของ EEA¹ สามารถเข้ารับการรักษาในเยอรมนีได้โดยการใช้บัตรประกันสุขภาพยุโรป (EHIC) หากประเทศบ้านเกิดได้ทำข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคม² กับเยอรมนี ซึ่งรวมทั้งกฎเกณฑ์สำหรับการประกันสุขภาพ จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์การประกันในเยอรมนีได้ในบางสถานการณ์ ความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์จะถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง หากประเทศกำเนิดไม่ใช่ประเทศในกลุ่ม EEA¹ และเป็นประเทศที่ไม่มีข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคม² กับเยอรมนี จะต้องทำประกันสุขภาพภาคเอกชน ครอบครัวอุปถัมภ์ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพภาคเอกชนและค่าประกันอุบัติเหตุให้กับออแพร์
การจำกัดอายุออแพร์:
ตามกฎ: 18 ถึง 27 ปี
สำหรับการขอวีซ่า: 18 ถึง 26 ปี
ประเทศกำเนิดที่ไม่ใช่ประเทศในกลุ่ม EU: 18 ถึง 24 ปี
ระยะเวลาการประกันสูงสุด: 12 เดือน
แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากหน่วยงานอิสระในประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่พำนักอยู่ ก่อนที่จะไปพำนักในต่างประเทศ ซึ่งอาจขอคำปรึกษาได้จาก คณะผู้แทนทางการทูตที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่แผนกคนต่างชาติที่เกี่ยวข้อง หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัทประกัน
ข้อควรใส่ใจ: ข้อเสนอเกี่ยวกับอัตราและสิทธิประโชน์จะแตกต่างกันตามบริษัทประกัน ดังนั้นจึงควรตรวจสอบราคาและสิทธิประโยชน์อย่างถี่ถ้วนก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีอัตราสำหรับผู้พำนักระยะสั้นในเยอรมนีที่เข้าร่วมโครงการ Work & Travel vudfhöp
เคล็ดลับที่มีประโยชน์ สำหรับชาวต่างชาติในเยอรมนี
เมื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องทำอย่างไร?สิ่งสำคัญที่ควรทราบเป็นพิเศษเมื่อต้องการการดูแลรักษาทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินคือ จะสามารถติดต่อบุคคลใดได้บ้าง และจะได้รับความช่วยเหลือนี้ได้อย่างไร
1. หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
จำเป็นต้องโทรติดต่อหมายเลขฉุกเฉินต่อไปนี้ เมื่อต้องการรับการรักษาทางการแพทย์อย่างทันทีและรวดเร็ว หรือเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่น:
112 → แพทย์ฉุกเฉิน/ รถพยาบาล และ/หรือหน่วยดับเพลิง (ใช้ได้ทั่วยุโรป)
110 → ตำรวจi (สามารถโทรศัพท์เรียกหมายเลขฉุกเฉินทุกหมายเลขได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)
2. บริการแพทย์เวรนอกเวลา
ทางเลือกในการขอรับการดูแลรักษาทางการแพทย์นอกเวลาทำการ:
- 116117 → บริการแพทย์เวรนอกเวลาของสมาคมแพทย์ที่เข้าร่วมระบบประกันสุขภาพตามกฎหมาย
- การเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในที่นั้น
3. ยาและร้านขายยา
ยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ⇢ สามารถซื้อหาได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
ยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (เช่น ยาปฏิชีวนะ) ⇢ จำเป็นต้องเข้ากรับการตรวจโดยแพทย์ก่อน และต้องมีใบสั่งจากแพทย์รวมทั้งต้องชำระเงินเพิ่ม
ได้มีการจัดตั้งบริการร้านขายยาฉุกเฉินขึ้นในเยอรมนีสำหรับกรณีเหตุฉุกเฉิน สามารถหาที่อยู่ของร้านขายยาที่เกี่ยวข้อง („ร้านขายยาที่อยู่ในหน้าที่“) ใกล้บ้าน ได้ในหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุด หรือป้ายแขวนในร้านขายยาทุกแห่ง
4. การให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ – ลิงก์ที่มีประโยชน์
สถานศึกษา | ที่อยู่ |
---|---|
สำนักการต่างประเทศ | www.auswaertiges-amt.de |
สำนักงานกลางเพื่อการย้ายถิ่นและผู้อพยพ | www.bamf.de |
กรรมาธิการกลางเพื่อคนต่างชาติ | www.bundesauslaenderbeauftragte.de |
คณะกรรมการผู้อพยพประจำรัฐ | www.fluechtlingsrat.de |
หน่วยงานเพื่อการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาแห่งเยอรมนี | www.daad.de |
สหภาพนักศึกษาแห่งเยอรมนี (หรือ DSW) | www.internationale-studierende.de |
มูลนิธิส่งเสริมการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย | www.hochschulkompass.de |
สำนักเลขาธิการการประชุมของกระทรวงวัฒนธรรมประจำรัฐ ศูนย์กลางด้านการศึกษาสำหรับชาวต่างชาติ |
www.anabin.kmk.org |
สถาบันเกอเธ่ | www.goethe.de |
สมาคมเพื่อการเตรียมศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและการพัฒนาแบบทดสอบ สถาบัน |
www.testdaf.de |
กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี | www.bmbf.de |
สำนักการประกันแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี | www.bundesversicherungsamt.de |
ศูนย์การศึกษาด้านการเมืองแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (หรือ bpb) | www.bpb.de |
สำนักประสานงานการประกันสุขภาพแห่งเยอรมนี – ต่างประเทศ (หรือ DVKA) | www.dvka.de |
สถานที่ให้บริการทางสุขภาพ | ที่อยู่ |
---|---|
กระทรวงสาธารณสุขแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (หรือ BMG) | www.bundesgesundheitsministerium.de |
ศูนย์ให้ข้อมูลด้านสุขภาพแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (หรือ BZgA) | www.bzga.de |
สมาพันธ์เพื่อการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (หรือ BVPG) | www.bvpraevention.de |
หน่วยงานให้คำปรึกษาผู้ป่วยอย่างเป็นอิสระของเยอรมนี (หรือ UPD) | www.patientenberatung.de/de |
สภากาชาดเยอรมนี (หรือ DRK) | www.drk.de |
หน่วยงาน Diakonie ของเยอรมนี | www.diakonie.de |
หน่วยงาน Caritas ของเยอรมนี | www.caritas.de |
กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (หรือ BAGFW) | www.bagfw.de |
องค์กรช่วยเหลือผู้ป้วยโรคเอดส์ของเยอรมนี | www.aidshilfe.de |
สำนักงานใหญ่เพื่อผู้ติดยาในเยอรมนี (หรือ DHS) | www.dhs.de |
สมาคม STI แห่งเยอรมนี สมาคมส่งเสริมสุขภาพทางเพศ |
www.dstig.de |
สมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนี | www.dge.de |
เครือข่ายเมืองสุขภาพดี | www.gesunde-staedte-netzwerk.de |
¹ ประเทศในกลุ่ม EU /EEA: ประเทศที่เป็นสมาชิก EU และลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์, ไอซ์แลน์ + สวิตเซอร์แลนด์
² ประเทศที่ได้ทำข้อตกลงว่าด้วยการประกันสังคมกับเยอรมนี: บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, จังหวัดโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส (เฟรนช์เกียนา, กัวเดอลุป, มาร์ตีนิก, มายอต, เรอูนียง), อิสราเอล³, โครเอเชีย, โมร็อกโก, มาซิโดเนีย, มอนเตเนโกร, เซอร์เบีย, ตุรกี และตูนีเซีย
³ ข้อตกลงจะเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือมารดาภายในความคุ้มครองของการประกันสุขภาพเท่านั้น